วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

แบบฝึกการรับบอลตำแหน่ง 1 และตำแหน่ง 5


แบบฝึกการรับบอลตำแหน่ง 1 และตำแหน่ง 5




แบบฝึกการรับบอลแต่ละตำแหน่งที่นำเสนอนี้ เป็นแบบฝึกที่ใช้สำหรับฝึกทักษะการรับส่วนบุคคลอยู่ แต่ระดับความยากจะยากขึ้น และเป็นแบบฝึกของแต่ละตำแหน่งในการรับ

ก่อนจะเข้าสู่แบบฝึก ผมจะแสดงแผนผังของแต่ละตำแหน่งในการเล่นวอลเลย์บอล เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน


ตำแหน่งในการเล่นวอลเลย์บอล
ในการรับบอลแต่ละตำแหน่ง ผู้ฝึกสอนจะต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าในแต่ละตำแหน่งนั้นโอกาสที่ลักษณะของบอลที่จะมาสู่ตำแหน่งนั้นเป็นบอลลักษณะใดบ้าง เช่นลูกตบที่รุนแรง ลูกหยอด ลูกบอลสัมผัสบล็อก ผู้ฝึกสอนก็จำเป็นต้องอธิบายให้นักกีฬาเข้าใจ และสามารถออกแบบการฝึกซ้อมให้ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงมากที่สุด
ในแต่ละตำแหน่งผมจะอธิบายโดยละเอียดเพื่อที่จะสามารถนำไปประยุกต์ปรับแบบแผนการฝึกซ้อมให้เหมาะสมกับทีมของท่านได้




แบบฝึกการรับบอลตำแหน่งที่ 1 (หลังขวา) และตำแหน่ง 5 


ผู้เล่นที่รับบอลตำแหน่งนี้มีโอกาสรับบอลทุกลักษณะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบการป้องกัน ระบบการรับของทีม โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
- รับบอลตบหัวเสามุมตรง
- รับบอลตบหัวเสาหลังมุมแทยง


วิธีการฝึก
- ผู้ฝึกสอนหรือเทรนเนอร์ยืนบนโต๊ะหน้าตาข่ายฝั่งตรงข้าม
- ผู้เล่นยืนพร้อมรับลูกตบที่หลังเส้นรุก (ตำแหน่ง A)
- ผู้เล่นถอยไปที่ตำแหน่ง B ประมาณ 6 เมตร จากตาข่ายเพื่อรับบอลตบจากผู้ฝึกสอน
- รับเสร็จกลับไปที่จุด A แล้วทำซ้ำ


ฝึกรับ 10-15 ลูกต่อคน นับเฉพาะบอลที่รับเข้าจุดหน้าตาข่าย


ฝึกการรับบอลตำแหน่ง 1
ฝึกการรับบอลตำแหน่ง 5
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
- ผู้ฝึกสอนสามารถปรับเปลี่ยนบอลตบเป็นบอลหยอดสลับกันไปก็ได้
- การตบบอลอาจจะให้หลากหลายเช่น ตรงตัว ข้างตัว หนัก เบา สลับกัน

คลิบ วอร์ม อบอุ่นร่างกาย


คลิบ วอร์ม อบอุ่นร่างกาย

Jump Ex



Slice




Increase Vertical Jump


ลักษณะเฉพาะในการฝึกซ้อมวอลเลย์บอลหญิง


ลักษณะเฉพาะในการฝึกซ้อมวอลเลย์บอลหญิง


ในการฝึกซ้อมวอลเลย์บอลปัญหาที่ผู้ฝึกสอนที่เพิ่งเริ่มคุมทีมมักจะพบบ่อยมักจะเป็นเรื่อง วันนี้จะซ้อมอะไรดี ใช้แบบฝึกแบบไหน ทีมอื่นเขาฝึกกันอย่างไร หลายท่านเป็นผู้ฝึกสอนควบทั้งทีมหญิงและทีมชาย ใช้แบบฝึกเดียวกัน ฝึกซ้อมร่วมกัน ซึ่งผมขอแนะนำว่าเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่แตกต่างกันค่อนข้างมากสำหรับนักกีฬาชายและนักกีฬาหญิง

หน้าที่ของผู้ฝึกสอนคือการพยายามทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้เล่นให้ดีที่สุด เพื่อให้ได้รับชัยชนะจากการแข่งขัน ผู้ฝึกสอนจะต้องวิเคราะห์รายละเอียดต่าง ๆ ปัจจัยต่าง ๆ ในกีฬาวอลเลย์บอล ลักษณะเฉพาะของวอลเลย์บอล ผู้ฝึกสอนต้องทราบและทำความเข้าใจว่า ความแตกต่างระหว่างทีมหญิงและชายมีหลายอย่าง เช่น ลักษณะทางกายภาพ ลักษณะทางจิตวิทยา รูปแบบการเล่น ดังนั้นเมื่อมีความแตกต่างกันการฝึกซ้อม กระบวนการต่าง ๆ ย่อมแตกต่างกันด้วย ไม่สามารถนำรูปแบบการซ้อมของทีมชายไปใช้กับทีมหญิงหรือทีมหญิงไปใช้กับทีมชายได้ทั้งหมด จะต้องวิเคราะห์รายละเอียดต่าง ๆ เพื่อจัดกระบวนการฝึกซ้อมให้เหมาะสมกับประเภทของผู้เล่น


หยวน ไว มิน อดีตผู้ฝึกสอนวอลเลย์บอลทีมหญิงของทีมชาติจีนที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง ได้อธิบายลักษณะเฉพาะในการฝึกซ้อมวอลเลย์บอลประเภททีมหญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ฝึกสอนจะต้องสนใจดังนี้

1. การแสดงบทบาทผู้นำของผู้ฝึกสอน
แน่นอนว่าผู้ฝึกมีหน้าที่ต้องเป็นผู้นำทีม การแสดงบทบาทผู้นำของผู้ฝึกสอนทีมชายและทีมหญิงมีความแตกต่างกัน ด้วยลักษณะทางจิตวิทยาที่มีความแตกต่างระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง นักกีฬาหญิงนั้นมักไม่ค่อยแสดงความคิดริเริ่ม ไม่ค่อยแสดงความเห็นเกี่ยวข้องกับการฝึกซ้อมเท่านักกีฬาชาย ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ฝึกสอนทีมหญิงต้องใช้ความพยายามอธิบาย ชี้นำในการฝึกซ้อมมากกว่าผู้ฝึกสอนทีมชาย
ปัญหาหนึ่งที่มักพบในทีมหญิงคือโดยลักษณะเฉพาะของเพศหญิงจะมีความอ่อนไหวเรื่องความรู้สึก เรามักพบว่ามักมีการแบ่งเป็นกลุ่มเป็นพวกภายในทีม มักจะสนิทสนมกันในกลุ่มเล็ก ๆ บางครั้งเป็นจุดที่ทำให้ทีมเกิดปัญหา หน้าที่ของผู้ฝึกสอนจะต้องคอยดูแลสอดส่อง พึงระลึกว่าวอลเลย์บอลทีมหนึ่งมี 12 คน จะต้องพยายามหลอมรวมให้เปรียบเสมือนเป็นคน ๆ เดียวให้ได้มากที่สุด ความสามัคคีเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ได้รับชัยชนะ
ดังนั้นผู้ฝึกสอนจึงมิใช่เพียงแต่สอนในเรื่องของเทคนิคเท่านั้น แต่จะต้องสั่งสอนให้นักกีฬาทั้งหมดมีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันดียวกันให้ได้ด้วย


2. เริ่มฝึกซ้อมด้วยทักษะการป้องกัน
เกมวอลเลย์บอล การรุกทุกครั้งจะเริ่มต้นจากการตั้งรับทั้งสิ้น หากวิเคราะห์จากสถิติในเกมวอลเลย์บอลพบว่าการรุกแทบทั้งหมดมาจากการป้องกัน Defense จากสถิตินั้นระดับความเร็วของลูกตบในการแข่งขันประเภททีมชายมีต่าเฉลี่ยประมาณ 33 เมตรต่อวินาที หรือ 119 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ทีมหญิงความเร็วจะประมาณ 18 เมตรต่อวินาที หรือ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นโอกาสที่จะรับลูกตบในประเภททีมหญิงจะมีมากกว่า
ลูกเสริฟในทีมหญิงจะมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง มีสถิติที่น่าสนใจคือ ค่าเฉลี่ยเปรียบเทียบความสูงของผู้เล่นเมื่อชูมือเหนือตาข่ายพบว่า นักกีฬาหญิงจะชูมือได้สูงกว่า (ความสูงตาข่ายทีมชาย 2.43 เมตร 2.28 เมตร) ด้วยเหตุนี้ทำให้การเสริฟของทีมหญิงจะมีประสิทธิภาพมาก จึงควรให้เวลากับการฝึกซ้อมทักษะการรับลูกเสริฟและทักษะที่เกี่ยวข้องให้มาก ทักษะการรับลูกเสริฟนั้นสร้างรูปแบบการเล่น การรับลูกเสริฟไม่ดี จะทำให้สร้างสรรค์เกมรุกยากหรืออาจทำให้เสียคะแนนได้ทันที


การเสริฟเกิดจากผู้เล่นเพียงคนเดียว โดยไม่มีคู่ต่อสู้ขัดขวาง การเสริฟที่ดีสามารถทำคะแนนได้ทันที ด้วนค่าเฉลี่ยความสูงที่นักกีฬาหญิงสามารถชูมือได้สูงใกล้เคียงขอบบนของตาข่ายสำหรับนักกีฬาไทย หรือสูงกว่าขอบบนตาข่ายหากเป็นนักกีฬาที่มีความสูง ถ้านักกีฬาสามารถเรียนรู้เทคนิคว่าจะมีวิธีการเสริฟอย่างไร การเสริฟจะมีประสิทธิภาพมาก ในปัจจุบันนักกีฬาหญิงมักนิยมการเสริฟลักษณะ jump float ซึ่งการเสริฟแบบนี้ทำให้ลูกบอลจะพุ่งข้าหาผู้รับในระดับอกซึ่งยากต่อการรับ

การสกัดกั้น เป็นกระบวนการแรกของการป้องกัน แต่โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นในการแข่งขันประเภททีมหญิงมีเพียง 20% เท่านั้น การสกัดกั้นที่ถือว่ามีประสิทธิภาพมี 3 ลักษณะคือ

1. Killing Block คือการสกัดกั้นที่สามารถหยุดการรุกของคู่ต่อสู้ทันทีและสามารถได้คะแนนจากการสกัดกั้น
2. Received Block คือการสกัดกั้นที่สามารถปิดบังส้นทางการรุกของคู่แข่ง ทำให้ผู้เล่นในทีมสามารถรับลูกตบจากการรุกได้
3. Saved Block คือการสกัดกั้นที่สามารถทำให้เพื่อนร่วมทีมนำบอลนั้นกลับมาเล่นได้ต่อ
ในการแข่งขันประเภททีมหญิง การสกัดกั้นลักษณะ saved block จะเกิดขึ้นมากที่สุดประมาณ 30% เมื่อใดที่ค่าเฉลี่ยการสกัดของทีมต่ำเราจะพบว่าผู้เล่นแดนหลังจะถูกโจมตีด้วยลูกตบอย่างหนักหน่วงซึ่งยากต่อการรับ นักกีฬาหญิงที่มีศักยภาพความสามารถสูงในการรับลูกตบโดยที่ไม่มีการสกัดกั้นอาจจะประสบความสำเร็จในการรับได้ถึง 60% ดังนั้นความสำคัญของการฝึกป้องกัน defense จึงเป็นรื่องที่ไม่ควรละเลยเป็นอันขาดในการฝึกซ้อมวอลเลย์บอลทีมหญิง

ด้วยกระบวนการป้องกันของทีมหญิงสามารถทำได้ง่ายกว่ากว่าทีมชายทำให้เกมวอลเลย์บอลหญิงจะมีความต่อเนื่องโอกาสที่เกิดการรุกโต้กลับ counter-attack จะมีมากกว่าทีมชาย

การรุกโจมตีโต้กลับ counter-attack มีพื้นฐานมากจากการสกัดกั้น block การรับลูกตบ dig การรองบอล cover การเซต set และการตบ spike ทุกส่วนมีความสำคัญทั้งสิ้น การผิดพลาดส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น รองบอลไม่ดี เซตไม่ได้ อาจจะทำให้กระบวนการทั้งหมดผิดพลาด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมักจะพบว่านักกีฬาไม่ค่อยใส่ใจให้ความสำคัญกับรายละเอียดในทักษะเหล่านี้ เพราะมักคิดว่ามันง่ายกว่าการสกัดกั้นหรือรับลูกตบ มักพบบ่อย ๆ ว่าเมื่อสามารถรับลูกตบได้แล้วแต่ไม่สามารถรุกโต้กลับได้เพราะผิดพลาดในทักษะที่เห็นว่าเล็กน้อยเช่น การเซ็ตบอลไม่ดี ทำให้เสียโอกาสและอาจเสียคะแนนได้ ดังนั้นทักษะเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งหมดนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเล่นที่ต่อเนื่องของวอลเลย์บอลหญิง

วอลเลย์บอลเป็นกมที่อนุญาตให้ผู้เล่นสัมผัสบอลได้ในเวลาพียงเสี้ยววินาที แต่เวลาส่วนใหญ่ใช้ไปกับการเคลื่อนที่โดยที่ไม่มีลูกบอล จากสถิติที่มีการวิเคราะห์กันออกมาการเคลื่อนที่ที่เล่นบอลจะเกิดเพียง 20.75% โดยผู้เล่นตัวตบหลัก 21.72% ตัวเซต 25.55% ในขณะที่การเคลื่อนที่โดยไม่ได้เล่นบอลจะประมาณ 75-80%

ดังนั้นในการฝึกซ้อมผู้ฝึกสอนต้องสนใจฝึกซ้อมเรื่องการเคลื่อนที่โดยไม่มีลูกบอลและทักษะที่ต่อเนื่องในกระบวนการโต้กลับ


3. การเซต
การเซตคือกุญแจสำคัญ เป็นทักษะเชื่อมต่อในการเปลี่ยนสถานะจากการตั้งรับเป็นการรุกโต้กลับ counter-attack ผู้เล่นตัวเซตควรจะรุ้ว่าจะมีแนวทางการเล่นอย่างไร จังหวะในการเซต การหาจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้ามและพยายามมุ่งโจมตีบริเวณนั้น การเล่นวอลเลย์บอลสมัยใหม่นั้นผู้เล่นทุกคนควรจะมีทักษะการเซตที่ดี เพราะการรุกโต้กลับอาจจะไม่ใช่ผู้เล่นตัวเซตเป็นคนเซตบอล หากการเซตบอลมีประสิทธิภาพดี การรุกโต้กลับก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ในกระบวนการรุกโต้กลับ ผู้เล่นตัวเซตจะมีบทบาทมาก การเคลื่อนที่ของตัวเซตจะมากที่สุดในทีมประมาณ 90 % และอัตราการเคลื่อนที่ไปเซตบอลจะสูงถึง 64.7 % การฝึกซ้อมการเคลื่อนที่ของตัวเซตจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่ง
ผู้เล่นตัวเซตจะมีบทบาทมากที่สุดในกระบวนการเปลี่ยนเสริฟ side out การช่วงชิงความได้เปรียบระหว่างฝ่ายเสริฟกับฝ่ายรับเสริฟในวอลเลย์บอลหญิงจะมีความเข้มข้นกว่าทีมชาย การเซตครั้งแรกจะเป็นการกำหนดเทคนิคการเล่นโดยตัวเซต ลักษณะการฝึกซ้อมที่จำเป็นอีกแบบหนึ่งคือ รูปแบบการฝึก Serve – pass – Set หลาย ๆ รูปแบบ
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ในเกมวอลเลย์บอลหญิง จะมีโอกาสเกิดการรุกโต้กลับมากกว่าทีมชาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในการฝึกการเซตในสถานการณ์การรุกโต้กลับ ซึ่งการเซตจะยากกว่าจากการรับลูกเสริฟเพื่อทำการรุกครั้งแรก first attack ผู้เล่นตัวเซตต้องประสานงานกับเพื่อนร่วมทีมให้ดี จึงต้องฝึกเพื่อให้เกิดทักษะการประสานงานที่ดี

ในการฝึกผู้เล่นตัวเซต นอกจากการฝึกทักษะพื้นฐานต่าง ๆ แล้ว ยังต้องฝึกให้ตัวเซตมีวิสัยทัศน์ในการอ่านเกม มีปฏิกิริยาตอบสนองที่รวดเร็ว การตัดสินใจที่ดี และความสามารถในการนำเอาเทคนิคที่ผู้ฝึกสอนแนะนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องด้วย

4. การตบทำคะแนน และการสกัดกั้น
การตบและการสกัดกั้นเป็น 2 วิธีการหลัก ๆ ที่ใช้ทำคะแนนในการเล่นวอลเลย์บอล ด้วยเหตุที่นักกีฬาชาย มีพื้นฐานความแข็งแรง ความสามารถในการกระโดดสูง ตบบอลได้หนักหน่วงและมีความเร็วมาก การได้คะแนนส่วนใหญ่จึงมาจากการตบเมื่อเป็นฝ่ายรับเสริฟหรือ First Attack หรือเกิดจากการสกัดกั้นเมื่อเป็นฝ่ายเสริฟ Point Phase ในขณะที่ทีมหญิงมักจะมีการเล่นที่ต่อเนื่องไม่สามารถทำคะแนนได้ในการ firs attack การฝึกซ้อมทีมหญิงควรให้ความสำคัญเรื่องการรุกอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนกระบวนการจากรับเป็นรุกและจากรุกเป็นรับให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน

สมรรถภาพร่างกายของนักกีฬาวอลเลย์บอล


สมรรถภาพร่างกายของนักกีฬาวอลเลย์บอล


สมรรถภาพร่างกายของนักกีฬาเป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อนมาก การฝึกซ้อมเรื่องสมรรถภาพร่างกายผู้ฝึกสอนจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ อยู่ในความควบคุมดูแลของผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจจะเกิดอาการบาดเจ็บได้

ในการฝึกซ้อมวอลเลย์บอล ผู้ฝึกสอนส่วนมากจะมุ่งเน้นไปในเรื่องทักษะการเล่น แต่ต้องไม่ลืมว่าเรื่องสมรรถภาพทางร่างกาย ก็ควรเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากในการฝึกซ้อมกีฬาทุกประเภท สมรรถภาพทางร่างกายยังเป็นตัวเสริมที่ช่วยให้การฝึกทักษะต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สมรรถภาพทางร่างกายของนักกีฬาประเภทต่าง ๆ ก็มีความแตกต่างกันตามลักษณะของกีฬาประเภทนั้น ๆ วิธีการเสริมสร้างสมรรถภาพสำหรับนักกีฬาประเภทหนึ่งอาจจะไม่สามารถนำมาใช้กับนักกีฬาอีกประเภทหนึ่งได้ แต่ละประเภทกีฬาจึงมีแบบแผนการสร้างสมรรถภาพของนักกีฬาเฉพาะเจาะจงสำหรับกีฬาประเภทนั้นโดยตรง

สมรรถภาพทางร่างกายที่ดีของนักกีฬาวอลเลย์บอล ช่วยส่งเสริมให้การเล่นในแต่ละทักษะเป็นไปตามที่เราคาดหวังต้องการได้ เช่น

การเป็นตัวตบที่ดี จะต้องมีจังหวะที่ดีในการเข้าตบบอล ทิศทางของบอลถูกต้อง มีความเร็ว และน้ำหนัก และตัวตบที่ยอดเยี่ยมนั้นยังสามารถเลือกได้ว่าจะตบบอลไปลงที่ส่วนไหนในฝั่งคู่ต่อสู้

การเป็นผู้สกัดกั้นที่ดี จะต้องมีการเคลื่อนที่ในด้านข้างได้ดี เพื่อสามารถเคลื่อนที่แนวขนานกับตาข่ายเพื่อทำการกระโดดสกัดกั้นได้

ผู้เล่นตัวเซ็ตจะต้องมีปฏิกิริยาต้องตอบสนองต่อการรับของเพื่อนร่วมทีม สามารถเข้าสู่ตำแหน่งในการเซ็ตได้ ซึ่งผู้เล่นตัวเซ็ตที่ดีจะปฏิบัติได้เหมือนเป็นเรื่องง่าย ๆ

ผู้เล่นตัวรับอิสระและผู้เล่นในแนวรับคนอื่น ๆ ที่ต้องพยายามตั้งรับการรุกจากฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นการตบหรือหยอด ผู้เล่นตัวรับอิสระที่ดีจะต้องมีปฏิกิริยา และการเคลื่อนที่ที่ดี เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ถูกต้องเพื่อเล่นบอล
ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในทักษะการเล่นวอลเลย์บอล ที่ผู้เล่นจะต้องปฏิบัติในขณะที่อยู่ในสนามฝึกซ้อม และสนามแข่งขัน เราพบเห็นอยู่เป็นประจำว่าในระหว่างเกมการแข่งขันนั้น ความแตกต่างระหว่างผลชนะและแพ้เป็นนอกจากเรื่องของทักษะและการฝึกซ้อมแล้ว ในการแข่งขันที่ระดับความสามารถของนักกีฬาใกล้เคียงกัน ความแตกต่างด้านสมรรถภาพเป็นสิ่งที่ตัดสินผลการแข่งขันได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับผู้ฝึกสอนที่ต้องออกแบบการฝึกซ้อมด้านสมรรถภาพร่างกายสำหรับการเล่นวอลเลย์บอลด้วย

-----------------------------------------------------------------
การฝึกสมรรถภาพของนักกีฬาวอลเลย์บอลประกอบด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้คือ

พลังกล้ามเนื้อ(Power)
รูปแบบของพลังกล้ามเนื้อที่ใช้ในกีฬาวอลเลย์บอล
· พลังกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระโดดขึ้นจากพื้น(Take–off Power)
· พลังกล้ามเนื้อที่ใช้ในการลงสู่พื้น(Landing Power)ใช้พลังกล้ามเนื้อเพื่อลดแรงกระแทกในขณะที่ลงสู่พื้นการพัฒนาพลังกล้ามเนื้อของขา จะเพิ่มความสามารถในการกระโดด เพื่อเล่นลูกเหนือตาข่ายในเกมรุก และกระโดดเพื่อสกัดกั้นในเกมรับ
"การฝึกพลังกล้ามเนื้อจะใช้วิธีการฝึก Weight Training และ Plyometric"


ความแข็งแรง (Strength)
เป็นความสามารถกล้ามเนื้อที่หดตัวกระทำต่อแรงต้านให้ได้สูงสุด เช่นการยกน้ำหนัก การผลัก การดัน เป็นต้น มีความสำคัญในการเล่นกีฬาทุกชนิดทุกเพส ทุกวัย ความรุนแรงของการหดตัวจะขึ้นอยู่กับกระแสประสาทที่มากระตุ้น ถ้ากระแสประสาทหลั่งมากระตุ้นเซลล์กล้ามเนื้อมากการหดตัวของกล้ามเนื้อก็จะเกิดได้แรงมากตามไปด้วย ความแข็งแรงประกอบด้วย

ความแข็งแรงสูงสุด (Maximum Strength) เป็นความสามารถของกล้ามเนื้อที่หดตัวกระทำต่อแรงต้านได้แรงสูงสุดใน 1 ครั้ง เช่นการยกน้ำหนักได้น้ำหนักมากที่สุดเท่าที่จะสามารถยกได้เป็นต้น
ความแข็งแรงแบบอิลาสติก (Elastic Strength) เป็นความสามารถของกล้ามเนื้อที่หดตัวกระทำต่อแรงต้านด้วยความรวดเร็ว เช่นการทุ่ม การขว้าง การกระโดด เป็นต้น
ความแข็งแรงแบบทนทาน (Strength Endurance) เป็นความสามารถของกล้ามเนื้อที่หดตัวระทำต่อแรงต้านซ้ำๆกันได้นานที่สุดเช่น การดึง การปล้ำในมวลปล้ำ เป็นต้น

การพัฒนาความแข็งแรง (Strength Development)
การฝึกเพื่อพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมีวิธีการมากมาย การฝึกด้วยน้ำหนักหรือการฝึกด้วยแรงต้านเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่พัฒนาความแข็งแรงได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสามารถกำหนดความหนักในการฝึกได้ถูกต้องชัดเจนมากกว่าวิธีการอื่น น้ำหนักจากการฝึกจะกระตุ้นเซลล์กล้ามเนื้อให้เกิดการพัฒนาให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น (hypertrophy) ทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อแต่ละครั้งได้แรงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ความหนักที่ใช้ในการฝึกจะเป็นตัวกำหนดขาดของเส้นใยกล้ามเนื้อเช่นเดียวกัน

การฝึกความแข็งแรงแบบทนทานของกล้ามเนื้อขนาดของกล้ามเนื้อจะมีขนาดเล็กกว่าการฝึกความแข็งแรงสูงสุด การฝึกเพื่อพัฒนาความแข็งแรงควรพิจารณาดังนี้

Resistance หมายถึงความหนักหรือแรงต้านที่ใช้ในการฝึกจะต้องเหมาะสมกับการฝึกความแข้งแรงแต่ละแบบ
Repetitions หมายถึงจำนวนครั้งของการฝึก การฝึกความแข็งแรงแต่ละแบบจะใช้จำนวนครั้งในการฝึกที่แตกต่างกัน การฝึกความแข็งแรงสูงสุดจะใช้น้ำหนักมากการฝึกความแข็งแรงแบบทนทานจะใช้น้ำหนักน้อย
Set หมายถึงจำนวนเวทหรือจำนวนยกที่ฝึกแต่ละวัน

ความเร็ว (Speed)
ความเป็นความสามารถในการเคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหวจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งด้วยเวลาที่น้อยที่สุดเช่น การวิ่ง 100 เมตร การว่ายน้ำ หรือความเร็วในการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ ความเร็วไม่ได้มีความหมายเฉพาะความเร็วเชิงเส้นเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงความเร็วในการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ การกลับตัวเช่นในกีฬาประเภททีมต่างๆ ที่มีการวิ่งไปกลับมีทิศทางการเคลื่อนที่ที่ไม่แน่นอน หรือความเร็วของอวัยวะต่างๆที่ทำงาน เช่นความเร็วในการทุ่ม การขว้าง การกระโดด เป็นต้น การพัฒนาความเร็ว (Speed development)
ในการพัฒนาความเร็วจำเป็นต้องมีสมรรถภาพทางกายด้านอื่นเป็นพื้นฐานโดยเฉพาะความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพื่อใช้ในการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็ว และในการฝึกเพื่อพัฒนาความเร็วจำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรในการฝึกเนื่องจากเกี่ยวข้องทั้งระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาทสั่งการ



การประสานสัมพันธ์ประสาทกล้ามเนื้อ (Coordination)
คนส่วนใหญ่เชื่อว่าการประสานสัมพันธ์ประสาทกล้ามเนื้อ (Coordination) เป็นเรื่องของกรรมพันธุ์หรือพรสวรรค์ ซึ่งก็เป็นความจริงอยู่บ้าง ซึ่งเป็นความสามารถที่หลากหลายในการเคลื่อนที่อย่างสมดุลในการปฏิบัติทักษะต่างๆ
การประสานสัมพันธ์ประสาทกล้ามเนื้อ จำเป็นต้องอาศัยสมรรถภาพทางกายทุกด้านนำมาผสมผสานกันในการเคลื่อนที่ เคลื่อนไหว หรือปฏิบัติทักษะต่างๆ การประสานสัมพันธ์ประสาทกล้ามเนื้อ เป็นสิ่งที่สามารถฝึกได้ โดยเฉพาะถ้าเริ่มฝึกตั้งแต่ยังเด็ก นอกจากนี้การฝึกเฉพาะเจาะจง ไม่ได้ช่วยในการฝึกการประสานสัมพันธ์ประสาทกล้ามเนื้อได้ดีเท่าไรนัก ดังนั้นนักกีฬาควรได้รับการฝึกที่หลากหลายด้วยกิจกรรมต่างๆตั้งแต่ไม่มีอุปกรณ์และมีอุปกรณ์ประกอบ


ความคล่องแคล่วว่องไว(Agility)
การพัฒนาความคล่องแคล่วว่องไวช่วยเพิ่มความสามารถในการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

การฝึกความคล่องแคล่วสามารถใช้วิธีการฝึกดังนี้ การวิ่งเปลี่ยนทิศทางรูปแบบต่างๆ เช่น วิ่งกลับตัว วิ่งซิกแซก วิ่งอ้อมหลัก ฯลฯ และการฝึกเพื่อเพิ่มความเร็วของเท้า (Foot work) โดยใช้บันไดลิง (Ladder)หรือ รั้ว


ความอ่อนตัว (Flexibility)
เป็นความสามารถในการเคลื่อนไหวของข้อต่อต่างๆ การยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อบริเวณข้อต่อนั้นๆ ความอ่อนตัวเป็นตัวกำหนดช่วงการเคลื่อนไหว (range of motion) ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ และพังผืดรอบข้อต่อ นักกีฬาที่มีความอ่อนตัวดีจะส่งเสริมการเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญช่วยยังป้องกันและลดการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ส่วนนักกีฬาที่มีความอ่อนตัวน้อยการเคลื่อนไหวกะลดประสิทธิภาพลงและนำไปสู่ปัญหาการบาดเจ็บตามมา ความอ่อนตัวจะลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้นจำเป็นต้องมีการฝึกเป็นประจำ


การพัฒนาความอ่อนตัว
ความอ่อนตัวสามารถพัฒนาได้ด้วยดารยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ข้อต่อต่างๆ ยิ่งมีการฝึก มากเท่าไรความอ่อนตัวจะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะกีฬาประเภททีมความยืดหยุ่นของข้อเท้าสะโพกเป็นสิ่งที่สำคัญ การยืดเหยียดมี 2 วิธี คือ


การยืดเหยียดแบบแอคทีฟ (active stretching) เป็นการยืดเหยียดด้วยตนเองสามารถความคุมระยะหรือช่วงของการเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเองทั้งและอยู่กับที่และเคลื่อนที่
- การยืดเหยียดแบบแพสสีฟ (passive stretching) เป็นการยืดเหยียดที่มีผู้ช่วยเพื่อเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวให้มากกว่าที่สามารถปฏิบัติได้เองจะทำให้เพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวได้มากขึ้น


ความทนทาน (Endurance)
ความทนทานเป็นสมรรถภาพทางกายพื้นฐานที่จะส่งเสริมสนับสนุนสมรรถภาพทางกาย ด้านอื่นๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งแบ่งป็น 2 ชนิด

- ความทนทานแบบแอโรบิค (Aerobic endurance)
- ความทนทานแบบแอนแอโรบิค (Anaerobic endurance)


ความทนทานแบบแอโรบิค (Aerobic endurance)
แอโรบิค หมายถึง ต้องมีการใช้ออกซิเจนในการสันดาปพลังงานในการทำงาน ของกล้ามเนื้อ การสันดาปพลังงานที่มีออกซิเจนจะให้พลังงานได้มากกว่าที่ไม่มีออกซิเจน แต่จะให้พลังงานได้ช้ากว่าเท่านั้นและยังไม่เกิดกรดแลคติกซึ่งเป็นกรดที่ขัดขวางการหดตัวของกล้ามเนื้อและทำให้เกิดอาการเมื่อล้าได้ง่าย
การที่ร่างกายสามารถนำออกซิเจนไปใช้ได้ในระดับที่มีการออกกำลังกายที่หนักมากขึ้นและเป็นเวลานานได้แสดงให้ว่าร่างกายไม่เกิดกรดแลคติกที่ทำให้เกิดการล้านั้นเอง ความทนทานแบบแอโรบิคจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากระบบไหลเวียนเลือดและระบบหายใจที่ดีจึงจะสามารถส่งเลือดที่มีทั้งสารอาหารและออกซิเจนไปสู่กล้ามเนื้อได้ดี จึงทำให้นักกีฬาสามารถฝึกซ้อมหรือแข่งขันได้เป็นระยะเวลานานโดยเกิดอาการล้าน้อยที่สุด


ความทนทนแบบแอนแอโรบิค (Anaerobic endurance)
แอนแอโรบิค หมายถึง ไม่มีการใช้ออกซิเจนในการสันดาปพลังงานในการทำงานของกล้ามเนื้อ การสันดาปพลังงานที่ไม่มีออกซิเจนจะให้พลังงานได้น้อยกว่าที่มีออกซิเจนแต่จะให้พลังงานได้รวดเร็วกว่าแต่สิ่งที่ตามจากกระบวนการสันดาปคือเกิดกรดแลคติกซึ่งเป็นกรดที่ขัดขวางการหดตัวของกล้ามเนื้อและทำให้เกิดอาการเมื่อล้าได้ง่าย นักกีฬาที่มีความทนทานด้านนี้ดีจะทนต่ออาการล้าได้ดีกว่าซึ่งถือว่าได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาวต่อไป



การพัฒนาความทนทาน (Endurance development)
วิธีการฝึกเพื่อพัฒนาความทนทานที่ดีนั้นควรคำนึงถึงแหล่งพลังงานที่แต่ละชนิดกีฬาใช้เป็นหลักทั้ง ความทนทานแบบแอโรบิค (Aerobic endurance) ความทนทานแบบแอนแอโรบิค (Anaerobic endurance) จะเป็นสัดส่วนกันในแต่ละชนิดกีฬาบางชนิกีฬาต้องการความทนทานแต่ละด้านแตกต่างกันออกไป การฝึกแบบหนักสลับเบาเป็นการฝึกเพื่อพัฒนาความทนทานได้ดีอีกวิธีการหนึ่ง ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้

- Intensity หมายถึง ความหนัก ในการฝึกในแต่ละครั้ง
- Duration หมายถึง เวลาในการฝึกแต่ละครั้ง
- Recovery หมายถึง การพักแต่ละครั้งหรือแต่ละเซท
- Recovery activity หมายถึง กิจกรรมที่กระทำระหว่างพัก
- Repetitions หมายถึง จำนวนครั้ง จำนวนเที่ยวในการฝึก



อย่าลืมว่าการฝึกสมรรถภาพร่างกายต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของผู้ฝึกสอนหรือผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด เพราะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ง่าย